ทุกวันนี้ เชื่อว่าคงจะไม่มีใครไม่เคยเจอคอลเซนเตอร์โทร หรือส่งข้อความมาก่อกวนกันอย่างแน่นอน ซึ่งพิโกเชื่อว่า คนส่วนใหญ่คงจะเริ่มจับไต๋กลลวงของคอลเซนเตอร์เหล่านี้ได้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังหลงเชื่อกลลวงของคอลเซนเตอร์เหล่านี้อยู่ และถูกดูดเงินออกไปจนหมดบัญชี จนเป็นข่าวให้เห็นกันมากมาย
ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ยังหลงเชื่อ มักจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร หรือไม่ทันกลลวงของเหล่ามิจฉาชีพ แน่นอนว่าในวันนี้ พิโกได้รวบรวมเอา 6 มุกหลอกลวงเงินที่มิจฉาชีพชอบใช้ มาให้คุณได้รู้ และนำไปแนะนำแก่ผู้สูงอายุที่บ้านกัน จะมีมุกไหนที่คุณเคยโดนบ้าง ไปดูกันเลย!
6 มุกหลอกลวงเงินที่พี่มิจ (ฉาชีพ) ชอบใช้ รู้ไว้เงินไม่หาย
เพราะในปัจจุบันนี้ เหล่ามิจฉาชีพไม่ได้ลวงเงินไปเพียงแค่หลักร้อย หรือหลักพัน แต่มากถึงหลักแสน หลักล้าน ดังนั้น การมีความรู้เกี่ยวกับมุกหลอกลวงที่มิจฉาชีพชอบใช้ จะช่วยให้คุณมีเกราะป้องกัน และไม่หลงเชื่อกลลวงเหล่านี้ง่าย ๆ
-
แอบอ้างเป็นคนในครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด
การแฮคหรือปลอมแปลง Facebook ส่วนตัว ถือเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากแล้วในปัจจุบัน ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ชอบลงรูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดียก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ โดยมิจฉาชีพเหล่านี้ จะทำการแฮ็ก Facebook หรือสร้าง Facebook ปลอมขึ้นมา จากนั้นก็ส่งข้อความเพื่อขอยืมเงินจากเพื่อน ญาติ หรือครอบครัวของเจ้าของ Facebook ตัวจริง
โดยจะส่งข้อความเป็นเชิงว่า ตอนนี้กำลังเดือดร้อน ต้องการใช้เงิน เพื่อทำให้ผู้ที่ได้รับข้อความรู้สึกเห็นใจ และโอนเงินมาให้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้สูงอายุมักจะโดนหลอกมากที่สุด เพราะมิจฉาชีพ จะใช้ความเห็นใจมาเป็นเครื่องมือ ดังนั้น หากมีข้อความเหล่านี้เข้ามา และดูผิดวิสัยไปจากความเป็นจริงของเจ้าของ Facebook ก็ควรจะโทรไปสอบถามให้แน่ชัดเสียก่อน นอกจากนี้ หากมั่นใจแล้วว่าเป็นมิจฉาชีพที่ปลอมแปลงหรือแฮค Facebook มา ก็ควรจะแจ้งให้คนรอบตัวรู้
-
เข้ามาจีบให้ตายใจ แล้วชวนลงทุน
เชื่อว่าในปัจจุบันคงจะมีหลายคนที่เข้าไปใช้บริการแอปฯ หาคู่ หรือช่องทางบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในการหาแฟน หรือหาเพื่อนคุยอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาพูดคุยกับเราจะมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความรู้จักหรือพูดคุยเหมือนกัน เพราะมีมิจฉาชีพบางส่วนที่ใช้พื้นที่ตรงนี้ ในการเข้ามาพูดคุย หรือจีบเหยื่อให้ตายใจ และโอนเงินให้ จากนั้นก็เชิดเงินแล้วหนีหายไป ดังนั้น หากคนที่พบเจอกันบนแอปฯ หรือโซเชียลมีเดียทักมาขอยืมเงิน ก็ไม่ควรโอนเงินให้ในทันที เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า จะได้คืนหรือไม่ หากไม่ได้คืนแล้วจะไปตามทวงหรือแจ้งความอย่างไร เพราะไม่มีข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามเลยแม้แต่น้อย
-
ส่งลิงก์เว็บไซต์แปลกปลอมมาให้คลิก
นอกจากมิจฉาชีพจะแฮ็ก Facebook เพื่อเข้าไปส่งข้อความขอยืมเงินกับคนรอบตัวแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่คนมักจะโดนกันไม่น้อยก็คือ ส่งลิงก์แปลกปลอมมาให้คลิกดูข้อมูล หรือวิดีโอ แต่เมื่อคลิกเข้าไปแล้ว กลับกลายเป็นการติดตั้งมัลแวร์ ที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถดูดข้อมูลธนาคารของเราออกไปทั้งหมดได้
-
ชักชวนให้มาลงทุน
เป็นข่าวใหญ่ที่พบเห็นกันได้มากมาย กับมิจฉาชีพที่มาหลอกให้ร่วมลงทุนในกองทุน หรือธุรกรรมอื่น ๆ โดยมิจฉาชีพเหล่านี้มักจะอ้างว่า “ลงทุนยังไงก็ได้กำไร ไม่เคยขาดทุนเลย” หรือ “มาลงทุนตรงนี้ ได้รับเงินยาว ๆ ได้กำไรเน้น ๆ เลยนะ ไม่มีขาดทุนแน่นอน ไม่สนใจหรอ”
จะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพจะหลอกล่อเราด้วยคำว่า “ไม่เคยขาดทุน” เพื่อให้เรารู้สึกสนใจ และอยากร่วมลงทุนด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนมีความผันผวนสูงและขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ทำให้คำว่า “ไม่มีทางขาดทุน” แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ มีแต่กำไรน้อย กำไรมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด! หรือหากบุคคลที่ทักมาดูมีความน่าเชื่อถือ ก็อย่าลืมเช็กประวัติและข้อมูลให้แน่ใจเสียก่อน
-
อ้างว่า มีของผิดกฎหมาย ต้องติดต่อกลับโดยด่วน
ข้อนี้ถือเป็นกลลวงยอดฮิตที่โดนกันมาแล้วทุกคน เพราะในยุคนี้มีแอปฯสั่งซื้อสินค้าที่สะดวกสบายมาก ๆ จนทำให้ทุกคนแทบจะลืมการเดินเลือกซื้อของกันไปแล้ว และแน่นอนว่า เมื่อคนส่วนใหญ่หันมาสั่งสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น เหล่ามิจฉาชีพก็เห็นช่องทางในการหลอกลวงที่ดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น
โดยมิจฉาชีพเหล่านี้ จะโทรเข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์ของเรา อ้างว่าเป็นบริษัทขนส่ง หรือศุลกากร และแจ้งว่าเรามีการสั่งซื้อสินค้าผิดกฎหมาย หากไม่ต้องการถูกดำเนินคดี จะต้องรีบติดต่อเข้าไปเพื่อยืนยันว่า ของเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา จากนั้นก็จะให้เราพูดคุยกับคอลเซนเตอร์ เพื่อให้ข้อมูลส่วนตัวไป หากเราหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนตัวไป มิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการดูดเงินออกจากบัญชีของเรา
ดังนั้น หากคุณมั่นใจว่า คุณไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับสิ่งของที่ผิดกฎหมาย ก็ไม่ต้องกังวลไป แต่ถ้าหากอยากเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง ก็ควรจะโทรไปที่เบอร์ของกรมศุลกากร หรือบริษัทขนส่งโดยตรง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
-
อ้างว่าเป็นธนาคาร และเสนอสินเชื่อให้
ช่วงนี้มีใครได้รับข้อความ โดยอ้างว่าเป็นธนาคารที่มาเสนอสินเชื่อให้ไหมคะ? เชื่อว่ามุกนี้คงจะเป็นมุกที่โดนกันเป็นประจำ จนรู้ทันกันอยู่แล้วแน่ ๆ โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความมายังเบอร์โทรศัพท์ของเรา และอ้างตัวเองว่าเป็นธนาคารมาเสนอสินเชื่อให้กับเรา เมื่อคลิกลิงก์เข้าไป ก็จะกลายเป็นการติดตั้งมัลแวร์ที่ดูดข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลธนาคารของเราออกไปทั้งหมด
เพราะฉะนั้น หากเจอข้อความแบบนี้ ให้จำไว้เลยว่า “ธนาคารไม่มีนโยบายในการเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าผ่านข้อความ” ไม่ว่าในขณะนั้นคุณจะเดือดร้อนเรื่องเงิน และข้อความนั้นจะเสนอเงินมากเท่าไหร่ ก็ขอให้คุณลบข้อความนั้นทิ้ง และเข้าไปติดต่อกับธนาคารเพื่อขอสินเชื่อด้วยตัวเองจะดีกว่า
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ 6 มุกหลอกลวงเงินที่เหล่ามิจฉาชีพชอบใช้ ที่เรารวบรวมมาให้ เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจออย่างน้อย 1-2 มุกแน่นอน ซึ่งพิโกเข้าใจเป็นใจเป็นอย่างดีว่า ในปัจจุบันนี้ เหล่ามิจฉาชีพและคอลเซนเตอร์ต่างโทรหรือส่งข้อความมาก่อกวนเรากันอยู่แทบทุกวัน เพราะฉะนั้น การรู้ทันกลลวงเหล่านี้ จะช่วยให้เราไม่หลงกลจนสูญเสียเงินไปได้
สุดท้ายนี้ หากคุณกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน และต้องการเงินเพื่อมาหมุนเวียนใช้จ่ายจำเป็น ก็อย่าลืมนึกถึง Pico เงินด่วน เพราะเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ให้เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ใบอนุญาตเลขที่ 273/2561 และพร้อมช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นจากปัญหาสภาพคล่องที่กำลังเจออยู่ หากสนใจขอสินเชื่อกับเรา หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพียงแค่แอด Line: @picoth หรือ คลิกปุ่ม “สมัครเลย” และทำตามขั้นตอนที่กำหนด เท่านี้ คุณก็จะมีเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของคุณแล้ว